ดูแลดั่งลูก ปลูกฝังคุณธรรม หนุนนำอาชีพ

ฝึกอาชีพในสถาบัน

ดำเนินการฝึกอาชีพให้แก่เยาวสตรีและสตรีและผู้สนใจใน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่มีอายุระหว่าง    14-60 ปี (ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ได้มีการขยายให้แก่ผู้มีศักยภาพที่อายุเกิน 60 ปี ที่ประสงค์จะเข้ารับการฝึกอาชีพ เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการ) ปีละ 500 คน  มีทั้งพักประจำในศูนย์ฯ และไป-กลับ

สำหรับการให้บริการของศูนย์ฯ ได้พัฒนาหลักสูตรให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ โดยปัจจุบัน ศูนย์ฯ ได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการ คือ เพิ่มหลักสูตรอบรมระยะสั้นให้ผู้เรียนได้เลือกตาม
ความต้องการ ปัจจุบัน จึงมีหลักสูตร 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และหลักสูตรอื่น ๆ ตามความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย พร้อมทั้งได้มีการจัดบริการสวัสดิการสังคมแก่เด็ก สตรี และครอบครัว ที่ประสบปัญหาทั้งในสถาบันและในชุมชน

รวมถึงการให้บริการทั้งเชิงรุกที่เปิดกลุ่มฝึกอาชีพในชุมชน ซึ่งไม่มีโอกาสได้เข้ามาเรียนที่ศูนย์ฯ และการเสริมสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจ เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้าให้ได้รับการยอมรับ และสามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างรวดเร็ว และเชิงรับที่เปิดสอนอบรมในศูนย์เรียนรู้ฯ ทั้งนี้ เพื่อให้เยาวสตรี สตรี รวมทั้งบุคคลทั่วไปอายุ 14 – 60 ปี และบุคคลที่มีอายุเกิน 60 ปี แต่มีศักยภาพในการประกอบอาชีพ ที่ขาดโอกาสทางการศึกษาและมีฐานะยากจน ต้องการมีอาชีพ ได้มีความรู้ ทักษะ เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพช่วยเหลือตนเองและครอบครัวให้ดำรงอยู่ได้อย่างมีความสุข

หลักฐานการสมัคร

  1. เอกสารยืนยันตัวตน (บัตรประชาชน และทะเบียนบ้าน) ตัวจริง*
  2. หลักสูตรวุฒิการศึกษาสูงสุด*
  3. ใบรับรองแพทย์ฉบับจริง (ไม่เกิน 1 เดือน นับตั้งแต่วันที่ออก)

หมายเหตุ * ศูนย์เรียนรู้ฯ จะเป็นผู้ทำสำเนาหลักฐานทางราชการ

คุณสมบัติผู้สมัครฝึกอบรมอาชีพในสถาบัน

  1. สตรีและบุคคลทั่วไปทุกเพศ อายุ 15 ปีขึ้นไป
  2. ผู้ที่มีฐานะยากจน ขาดโอกาสทางการศึกษา
  3. ผู้ประสบปัญหาทางสังคม
  4. ผู้ที่สนใจในการฝึกอาชีพ เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า
  5. สำหรับผู้สมัครหลักสูตรคอมพิวเตอร์ และหลักสูตรนวดแผนไทย ผู้สมัตรต้องมีวุฒิการศึกษามัธยมต้นปีที่ 3

สวัสดิการที่จัดให้สำหรับการฝึกอบรมอาชีพในสถาบัน

การดำเนินโครงการพัฒนาทักษะอาชีพแก่กลุ่มเสี่ยงในสถาบัน เป็นการฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่กลุ่มเป้าหมายภายในสถาบัน โดยศูนย์ฯ จัดอบรมให้ความรู้ ทักษะอาชีพตามหลักสูตรที่เปิดการเรียนการสอน กิจกรรมเสริมหลักสูตร และการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวมถึงการจัดสวัสดิการให้แก่ผู้เข้ารับการฝึกอาชีพ กลุ่มเป้าหมายมีภูมิคุ้มกัน และสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข ได้แก่

การบริการด้านปัจจัย 4 ได้แก่ ที่อยู่อาศัย อาหาร 3 มื้อ เครื่องนุ่งห่ม/ชุดเครื่องแบบ ยารักษาโรคที่จำเป็นต่อชีวิต รวมทั้งวัสดุในการอบรม เพื่อให้มีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ

การบริการด้านการแพทย์ แบ่งเป็น

1) ด้านการรักษาพยาบาล โดยการดูแลรักษาพยาบาลเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย และในรายที่มีอาการรุนแรงจะนำส่งสถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลประจำอำเภอ/จังหวัดต่อไป
2) ด้านการส่งเสริมสุขภาพ โดยเจ้าหน้าที่จัดกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย และให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ

การบริการด้านสังคมสงเคราะห์ โดยจัดให้มีนักสังคมสงเคราะห์ทำหน้าที่ให้คำแนะนำปรึกษาแก้ไขปัญหาแก่ผู้รับการฝึกอบรมเมื่อประสบปัญหา ให้สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข

การบริการด้านนันทนาการ มีการจัดกิจกรรมให้ผู้เข้ารับการอบรมวิชาชีพ เช่น การปฐมนิเทศ การไหว้ครู อบรมคุณธรรมจริยธรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิต การแข่งกีฬาสีเพื่อสุขภาพ การจัดทัศนศึกษา แนะแนวการประกอบอาชีพ และปัจฉิมนิเทศก่อนจบการฝึกอบรมอาชีพ เพื่อให้เกิดการพัฒนาทางด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ และสังคม

การบริการด้านศาสนา มีการจัดห้องพระ และห้องละหมาด สำหรับทำพิธีกรรมทางศาสนาทั้งทางพุทธและอิสลาม และจัดให้มีการทำบุญในวันสำคัญต่าง ๆ เป็นต้น

การบริการด้านการจัดหางาน มีการจัดหางานให้ทำภายหลังสำเร็จการฝึกอบรมวิชาชีพแล้วตามความประสงค์ของผู้เข้ารับการฝึกอาชีพ โดยการประสานงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน และสถานประกอบการหรือนายจ้างที่มีความประสงค์รับผู้รับการฝึกอบรมวิชาชีพเข้าทำงาน 

Share this...
Scroll to Top
Scroll to Top